1

ข้อมูล นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์


นาหว้าพาเลาะ: นวัตกรรมท่องเที่ยววิถีถิ่น 5 ชนเผ่า ชุมชนนาหว้า
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร ์
อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่สุดปลายแดนเบื้องทิศตะวันตกของจังหวัดนครพนม โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 110 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นเขตรอยต่อกับจังหวัดสกลนครที่ลากยาวตั้งแต่ทางด้านทิศเหนือสู่ทางทิศตะวันตก และสิ้นสุดที่ทางด้านทิศใต้ของตัวอำเภอนาหว้า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของท้องที่อำเภอนาหว้าเป็นที่ราบลุ่มบึงหนองสลับกับโคกเนินที่กระจายอยู่ทั่วไป มีแม่น้ำอูนไหลผ่านทางด้านทิศใต้แล้วโค้งตวัดตัดผ่านพื้นที่ใจกลางตัวอำเภอสู่ทางด้านทิศเหนือก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำสงครามที่อำเภอศรีสงคราม แม่น้ำเหล่านี้ต่างเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงทั้งสิ้น ดังนั้นจึงถือได้ว่าพื้นที่อำเภอนาหว้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมินิเวศของลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ซึ่งมีสัมพันธ์กันทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนมาช้านาน การตั้งถิ่นฐานของสังคมมนุษย์ในพื้นที่อำเภอนาหว้าเริ่มต้นขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในช่วงยุคโลหะตอนปลายร่วมสมัยกับวัฒนธรรมบ้านเชียงในราว 2,500 ปีก่อน ดังปรากฏหลักฐานสำคัญพบที่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ คือ เนินดินที่มีผู้พบเศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบและลายขูดขีดกระจายอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังได้พบโครงกระดูกมนุษย์ชาย-หญิง 2 โครงฝังแบบเหยียดยาว ที่เอวมีวัตถุสีเขียวคล้ายสำริดวางคาดอยู่ เหนือศีรษะมีภาชนะดินเผา 2 ใบวางซ้อนกัน จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานได้ว่าเนินดินแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งการผลิตเกลือสินโบราณมาก่อนและคงเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพราะได้มีการพบหลักฐานคล้ายกันนี้กระจายตามชุมชนต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำอูน-ยามนับตั้งแต่อำเภอวาริชภูมิ อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนมาถึงอำเภอนาหว้าและอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ชุมชนโบราณเหล่านี้เป็นเขตวัฒนธรรมบ้านเชียงที่อยู่ในยุคโลหะตอนปลาย (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2546, น.37-59) การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนที่เป็นบรรพชนของคนรุ่นปัจจุบันเกิดขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23-24 โดยมีกลุ่มคนภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน ทั้งจากภัยสงคราม การหลีกหนีปัญหาความขัดแย้งจากคนกลุ่มเดิม และการแสวงหาที่ดินทำกินใหม่ เนื่องจากในท้องที่อำเภอนาหว้านั้นเป็นที่ราบลุ่มที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ การมีแหล่งเกลือสินเธาว์ และแหล่งหาปลาจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ โดยมีกลุ่มคนสำคัญ ได้แก่ กลุ่มคนดั้งเดิมที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่เข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2112 และกลุ่มคนลาวจากเมืองอุบลราชธานีที่อพยพโยกย้ายเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.2350 รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์แสก ญ้อ กะเลิง และผู้ไทยที่ได้เข้ามาตั้งชุมชนในช่วงทศวรรษ 2370 เป็นต้นมา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในพื้นที่อำเภอนาหว้าเป็นที่รวมของชุมชนหลากชาติพันธุ์ที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างกันขึ้นอยู่ภูมินิเวศในแต่ละท้องถิ่น อันส่งให้แต่ละชุมชนมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นตามอัตลักษณ์ทางสังคมของตน ยกตัวอย่างเช่นหมู่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือเป็นหมู่บ้านที่มีการผลิตเกลือสินเธาว์ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม และเป็นหมู่บ้านที่มีการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ บ้านนาหว้า ตำบลนาหว้าเป็นที่ตั้งของพระธาตุประสิทธิ์-ปูชนียสถานสำคัญของอำเภอนาหว้า และถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของศูนย์หัตถกรรมทอผ้าพื้นบ้านอีกด้วย บ้านนางัว ตำบลนางัว เป็นหมู่บ้านที่มีผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามอันสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ บ้านตาล ตำบลนาหว้า หมู่บ้านที่ทำอาชีพปริศนา คือ การแปรรูปตุ๊กแก ไส้เดือน และปลิงตากแห้งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ สร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละหลายสิบล้าน บ้านอูนยางคำ ตำบลนาหว้า เป็นหมู่บ้านที่ผู้คนมีวิถีชีวิตผูกพันกับฐานทรัพยากรป่าไม้และแม่น้ำอูน ซึ่งส่งผลต่อวัฒนธรรมการทำมาหากินและรูปแบบของอาหารประจำถิ่น อย่างไรก็ตาม แม้ชุมชนต่างๆในเขตอำเภอนาหว้าจะมีความพรั่งพร้อมในด้านการท่องเที่ยว แต่จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นของคณะทำงานพบว่า การบริหารจัดการในภาพรวมในด้านการท่องเที่ยวก็ยังประสบปัญหา ที่ทำให้การพัฒนาด้านท่องเที่ยวไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร คือ 1) ปัญหาในเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการท่องเที่ยวของชาวบ้านที่มีลักษณะเป็น “ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสที่ทำหน้าที่ผลิตและสืบสานมรดกภูมิปัญญาในท้องถิ่นตามขนบดั้งเดิม และมีศักยภาพที่พัฒนาไปสู่การเป็น “ผู้ประกอบการท่องเที่ยว” ที่นำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดการและการบริการแก่นักท่องเที่ยวมาพัฒนาวิชาชีพ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว 2) การบริหารจัดการในภาพรวมยังไม่มีกลไกที่สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมของกลุ่มต่างๆ ที่ต่างแยกส่วนจัดการตามกลุ่มอาชีพของตน แต่ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกันในด้านการจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ 3) สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอนาหว้ามีสิ่งดึงดูดใจที่ดึงให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ชุมชน โดยมีทั้งแหล่งโบราณคดี แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน แต่ยังขาดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวเป็นผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่าผู้ชม ซึ่งเป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงกับเจ้าของภูมิปัญญาหรือคนในชุมชน อันนำไปการสร้างประสบการณ์ร่วมที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนพื้นถิ่นกับผู้ที่มาเยือน ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน 4) สถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอนาหว้าไม่ได้มีการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน ทั้งที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น พระธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนอำเภอนาหว้า และเป็นพระธาตุประจำวันของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี หมู่บ้านตาล ตำบลนาหว้า ที่ชาวบ้านประกอบอาชีพปริศนาทำไส้เดือน ปลิง จิ้งจก และตุ๊กแกตากแห้งส่งออกไปขายต่างประเทศ สร้างรายได้เดือนละหลายสิบล้าน ทะเลบัวแดงบ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ หนองน้ำธรรมชาติที่มีดอกบัวสีแดงบานสะพรั่งอยู่ทั่วบึง ฯลฯ นอกจากนี้ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงเข้ากับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นที่ตั้งอยู่ต่างอำเภอของจังหวัดนครพนม เช่น พระธาตุประจำวันเกิดที่กระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอต่างๆของจังหวัดนครพนม ย่านชุมขนเก่าในเขตเมืองท่าอุเทน เมืองธาตุพนม และในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ถ้ำนาคี-อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบ้านแพง หรือพญาศรีสัตตนาคราช-สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองนครพนมที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง 5) ยังไม่มีการนำเอาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน (Application) ที่ให้บริการข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมกับการให้บริการคำแนะนำในการเดินทาง ระบบการเลือกรูปแบบและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว ระบบการเลือกร้านอาหารและร้านค้าระบบการจองที่พัก นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเข้าไปชมภาพสถานที่ท่องเที่ยว โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานที่จริง ซึ่งเป็นวิถีการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่หลีกเลี่ยงการเดินทางและการสัมผัสกับผู้อื่นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากความสำคัญดังกล่าว ทางคณะทำงานจึงจัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบและกลไกเพื่อออกแบบนวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในเขตพื้นที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม” โดยมีเป้าหมายในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชน ที่เป็นการนำความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงหรือพัฒนาการท่องเที่ยวและการบริการที่มีอยู่เดิมให้เป็นที่พึงพอใจแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น อันเป็นการสร้างความได้เปรียบในการด้านการแข่งขัน และเป็นการกระตุ้นการบริโภคให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้คณะทำงานได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ที่เป็นการสร้าง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือกำหนดบทบาทคนในสังคมขึ้นมาใหม่ ให้เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวขึ้นในสังคมท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ (ชูศักดิ์ อินทมนต์ และ ศรัณยา เลิศพุทธรักษ์, 2562, น.91) ด้วยการถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการจัดการท่องเที่ยวและให้การบริการ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมให้เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนให้มีกิจกรรมหลากหลาย การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อบริการ และการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร โครงการนี้ต้องการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะที่อำเภอนาหว้า โดยอาศัยการประยุกต์ใช้ทุนและทรัพยากรในท้องถิ่น ได้แก่ 1) ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) เป็นต้นทุนที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ระบบความรู้ ภูมิปัญญา และขนบธรรมเนียมประเพณีที่สามารถนำมาปรับปรุง สร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ในรูปแบบสินค้าทางวัฒนธรรม (Cultural products) เช่น ภูมิปัญญาในการผลิตเกลือ ภูมิปัญญาในการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านของบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ ภูมิปัญญาเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอาหารประจำถิ่นของบ้านอูนยางคำ ตำบลนาหว้า ประเพณีและวัฒนธรรมการบูชาพระธาตุประสิทธิ์ของชาวบ้านนาหว้า ตำบลนาหว้า เป็นต้น 2) ทุนทางสังคม (Social Capital) เป็นระบบความสัมพันธ์ของผู้คนในหมู่บ้านของอำเภอนาหว้าที่มีอย่างเหนียวแน่น จนนำไปสู่การเกิดกลุ่มอาชีพต่างๆที่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยในโครงการนี้ได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ต้องทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ให้คนกลุ่มต่างๆ มาร่วมมือในการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ความสำคัญของโครงการ “การพัฒนาระบบและกลไกเพื่อออกแบบนวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในเขตพื้นที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม” เป็นการสร้างพัฒนาโมเดลหรือตัวแบบทางการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “สาม ส.” นั่นก็คือ “สุนทรียะ” “สุขภาวะ” และ “สนุก” กล่าวคือ “สุนทรียะ” เป็นอารมณ์และความรู้สึกร่วมของนักท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการเรียนรู้จากฐานภูมิปัญญาการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ ซึ่งในโครงการนี้ต้องการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวดื่มด่ำกับการทดลองเล่นดนตรีพื้นบ้าน เช่น การเป่าแคนและโหวด ไปพร้อมๆกับการให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการประดิษฐ์เครื่องดนตรีร่วมกับช่างที่มีฝีมือในท้องถิ่น “สุขภาวะ” เป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเน้นการพัฒนาและออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณหรือ “การท่องเที่ยวสายมู” ซึ่งในพื้นที่อำเภอนาหว้ามีสถานที่และเรื่องเล่าทางการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในเรื่องราวของการนับถือบูชาพญานาค ที่มีความเชื่อมโยงกับองค์พญาศรีสัตตนาคราชที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องของพญานาค ในพื้นที่อำเภอนาหว้า ได้แก่ วัฒนธรรมการบูชาพระธาตุประสิทธิ์บ้านนาหว้า ตำบลนาหว้า ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันพฤหัส วัดศรีชมพู บ้านอูนนา ตำบลนางัว ซึ่งของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีอายุถึง 104 ปี นั่นคือ “หลวงปู่คำไหล ปริสุทโธ” รวมถึงศาลปู่ตา-พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านที่กระจายตัวอยู่หลายพื้นที่ในเขตอำเภอนาหว้า นอกจากรูปแบบกิจกรรมของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ โครงการนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบนวัตกรรมการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจอีกกิจกรรมหนึ่ง นั่นคือ การพัฒนาธุรกิจสปาเกลือสินเธาว์ของนักท่องเที่ยวของชาวบ้านท่าเรือ ซึ่งมีการนำเอาพืชสมุนไพรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สปาตัว ขัดตัว ขัดหน้า มาร์คโคลน และสปาเท้า ในส่วนของความ “สนุก” ในโครงการนี้ หมายถึงความสนุกสนานเพลิดเพลินที่นักท่องเที่ยวจะได้รับองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านและวิถีชีวิตชุมชนผ่านการเที่ยวชมพระธาตุประสิทธิ์และศูนย์หัตกรรมผ้าทอพื้นบ้านของชุมชนนาหว้า การเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวบ้านยางอูนคำที่สัมพันธ์กับฐานทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ซึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นการนำเอาฐานทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว อันเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจชุมชนในระดับฐานราก การดำเนินงานของโครงการนี้เป็นการพัฒนานวัตกรรมที่เกิดจากองค์ความรู้ของคณะทำงานที่เคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับชุมชนบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ในโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาแนวทางการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนอย่างยั่งยืนในการเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน กรณีศึกษาบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม” ดำเนินการโดยอนุชิต สิงห์สุวรรณ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประเด็นสำคัญของโครงการวิจัยนี้ คือ การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าชุมชนที่มีต่อวิถีเศรษฐกิจของหมู่บ้าน เพราะเป็นพื้นที่ทีมีความหลากหลายของพันธุ์พืชที่สามารถใช้มาเป็นอาหาร ยาสมุนไพร ไม้ใช้สอย รวมถึงการเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้าน และเนื่องจากโครงการวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory action research : PAR) ที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนให้ชาวบ้านท่าเรือมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าและมีวิธีการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยได้ส่งเสริมให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการฝึกอบรมยุวมัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้มีความรู้ และความเชี่ยวชาญในการนำชมพร้อมกับการปลุกสร้างจิตสำนึกการรักถิ่นบ้านเกิด ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก (อนุชิต สิงห์สุวรรณ, 2557) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คณะทำงานอยากที่พัฒนาองค์ความรู้จากท้องถิ่นที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าว คือ การขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมการท่องเที่ยวจนทำให้หมู่บ้านท่าเรือเป็นชุมชนท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและเกิดความยั่งยืนแก่ชุมชน ทั้งนี้คณะวิจัยได้ปรับประยุกต์ใช้โมเดลการพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ซึ่งคณะวิจัยมีประสบการณ์ในการศึกษา วิจัย และพัฒนามาแล้ว เช่น โครงการ “การศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนบ้านท่าค้อ เพื่อการท่องเที่ยวในบริบทสังคมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ดำเนินการโดย ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา และ ดร.อนุชิต สิงห์สุวรรณ สนับสนุนโดยศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมหาวิทยาลัยนครพนม เมื่อปี พ.ศ. 2562 โครงการนี้เป็นการศึกษาองค์ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นบ้านท่าค้อ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาถ่ายทอดคืนสู่ชุมชนในรูปแบบของเวทีสาธารณะ และได้มีการสร้างนวัตกรรมด้านส่งเสริมเสริมท่องเที่ยวกับให้ชุมชนท้องถิ่น ด้วยการจัดทำแผนการพัฒนาเพื่อให้ชุมชนมีการจัดวางระบบและกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งจัดทำเส้นทางจักรยานเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง โดยจัดกิจกรรมปั่นจักรยานให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้ศึกษาสถานที่สำคัญและแหล่งเรียนรู้ ซึ่งมีปราชญ์และครูภูมิปัญญาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในแต่ละแห่ง โครงการ “การศึกษาแนวทางการจัดการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน กรณีศึกษาแหล่งเรียนรู้รอยตีนไดโนเสาร์ ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม” ดำเนินการโดย ดร.อนุชิต สิงห์สุวรรณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสุดา ด้วงโต้ด สนับสนุนโดยกองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี พ.ศ.2564 โครงการนี้เป็นการศึกษาแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งเรียนรู้รอยตีนไดโนเสาร์ท่าอุเทน ด้วยการขับเคลื่อนกิจกรรมอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ในเรื่องการจัดการและการให้บริการด้านการท่องเที่ยว การออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ซึ่งได้จัดทำร่างผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สบู่ “Dino soap”Dino soap” หรือสบู่ไดโนเสาร์ เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของตำบลพนอม อันเป็นพื้นที่ที่มีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กับคนภายนอก เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งเรียนรู้รอยตีนไดโนเสาร์และกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ โดยได้จัดทำคู่มือการท่องเที่ยว นิทรรศการ และเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการสื่อสารกับสาธารณะชน ด้วยเหตุนี้คณะทำงานโครงการฯ จึงได้วางแผนงานเบื้องต้นกับปราชญ์ท้องถิ่นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบ้านท่าเรือ โดยได้กำหนดพื้นที่ในการดำเนินโครงการ 6 ชุมชน ได้แก่ 1) พื้นที่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ 2) พื้นที่บ้านนาหว้า ตำบลนาหว้า 3) พื้นที่บ้านอูนยางคำ ตำบลนาหว้า 4) พื้นที่บ้านตาล ตำบลนาหว้า 5) พื้นที่บ้านนางัว ตำบลนางัว 6) พื้นที่บ้านดอนแดง ตำบลบ้านเสียว ทั้งนี้ทางคณะทำงานได้กำหนดกระบวนการออกเป็น “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” ดังนี้ ต้นน้ำ คือ ศึกษาแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนในเขตอำเภอนาหว้า โดยเรียนรู้จากกลุ่มผู้สูงอายุและปราชญ์ผู้รู้ของแต่ละชุมขน ในประเด็นเกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละชุมชน รวมถึงความสำคัญของสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนของอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม กลางน้ำ คือ การพัฒนาและยกระดับศักยภาพ สมรรถนะ และขีดความสามารถของ “ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม” ให้เป็น “ผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยว” โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยว การให้บริการด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว และการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนของอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ปลายน้ำ คือ การสร้างนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวชุมชนในเขตอำเภอนาหว้า ได้แก่ 1) การพัฒนาผู้ประกอบการที่มีความรู้ความเชียวชาญด้านการท่องเที่ยว 2) การพัฒนาระบบและกลไกในการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวแต่ละแห่งให้มีประสิทธิภาพ และ 3) การมีแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ทั้งในข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว การจองที่พักและเลือกรูปแบบบริการ ทั้งนี้การดำเนินงานตามกระบวนการดังกล่าว เป็นการเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างระบบ โดยการพึ่งพาฐานทรัพยากรในพื้นที่มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดนครพนม พ.ศ.2561-2565 ประเด็นการพัฒนาจังหวัด ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการบริการ แผนงานส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว ประเพณี ศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ เชิงกีฬา เชิงเกษตร เชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถีสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสอดคล้องกับพันธกิจของของมหาวิทยาในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม และมีพันธกิจสำคัญในการวิจัยการพัฒนานวัตกรรม การบริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของสังคม รวมถึงการส่งเสริม ทำนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง
ผู้ร่วมโครงการ

ระบุผู้ร่วมโครงการภายใน

 

ระบุผู้ร่วมโครงการภายนอก

NIA
977000
2565
Connect Error (1045) Access denied for user 'root'@'202.29.55.102' (using password: YES)